ประวัติความเป็นมา “ตลาดริมน้ำวัดนังฯ”
1. ตั้งอยู่บริเวณวัดนังคัลจันตรี ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา เป็นศูนย์รวมตลาดแบบผสมผสานระหว่างประชาชนในชุมชน พ่อค้า เอกชนและส่วนราชการ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค เสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้คนในท้องถิ่น และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม ในเขตเทศบาลตำบลลำลูกกาให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้รู้จักและมาเยี่ยมเยือน ชม ชิม ช้อป ประกอบด้วย
กิจกรรมการตักบาตรพระ 9 วัด ทางบกและทางน้ำ ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 07.00 – 07.30 น.
ตลาดนัดชนบท ตลาดผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ตลาดเปิดท้าย (ริมน้ำวัดนังคัลจันตรี) มีสินค้าทีหลากหลาย พืชผักสวนครัวไม้ดอกไม้ประดับ อาหารพื้นบ้าน ข้าวสาร อาหารแห้ง เนื้อสัตว์ต่างๆ ในราคาถูก จำหน่ายเป็นสินค้าทางด้านหัตถกรรม ศิลปะประดิษฐ์ เครื่องใช้ ของใช้ในครัวเรือน อาหารต่างๆ เป็นต้น ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 15.00 น.
ตลาดเก่า 100 ปี วิถีชุมชน เป็นตลาดเก่าเรือนไม้โบราณที่ชาวลำลูกกาดั้งเดิมได้อยู่อาศัย มีสินค้าบริโภค/อุปโภค อาหารและมีร้านขนม/ร้านค้าเก่าแก่คอยต้อนรับนักท่อง ได้มาลิ้มรสสัมผัสวิถีชีวิต
2. พระไม้ตะเคียนทอง อายุกว่า 1,000 ปี ( พระพุทธชยันโต )
ตั้งอยู่เชิงสะพานคลอง 7 หน้าสหกรณ์การเกษตรลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ฐานกว้าง 1.5 เมตร สูง 5 เมตร แกะสลักจาก ไม้ตะเคียนทอง อายุมากกว่า 1,000 ปี จมอยู่ในแม่น้ำเมย อ.แม่สอด จ.ตาก ริมฝั่งประเทศพม่า ก่อนทำพิธีพุทธาภิเษก มีเมฆครึ้ม ฝนตกพรำๆ เมื่อพระครูโสภิตปุญญากร เจ้าอาวาสวัดธัญญะผล ขึ้นเบิกเนตรองค์พระ ได้เกิดปาฏิหาริย์ท้องฟ้าสว่าง พระอาทิตย์ทรงกลด สร้างความประหลาดใจแก่ผู้เข้าร่วมพิธี
สำหรับชื่อพระพุทธชยันโต นำมาจากบทสวดมนต์ “ชยันโต” มาตั้งแปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีชัยชนะเหนือสรรพสิ่งทั้งปวง (พระพุทธเจ้าผู้ประสบความสำเร็จ) พระพุทธชยันโต เป็นสถานที่กราบไหว้สักการะบูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวลำลูกกา ปัจจุบันผู้มีจิตศรัทธามากราบไหว้บูชาขอพรและมีผู้นำสิ่งของมาถวายเพื่อแก้บนอยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นพระพุทธรูปไม้ตะเคียนทองหนึ่งเดียวในจังหวัดปทุมธานี
3. วัดนังคัลจันตรี (วัดเก่าแก่อายุกว่า 123 ปี)
ตั้งอยู่เชิงสะพานคลอง 7 ริมคลองหกวา หมู่ 5 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2437 สร้างโดยพระครูโทน วัดบำเพ็ญเหนือ อ.มีนบุรี กับสมภารแป้น ก้อนนาค และประชาชนร่วมกันสร้าง (ซึ่งต่อมาสมภารแป้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเป็นรูปแรก) เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดปากคลองเจ็ด” โดยมีหลวงโยธาภิบาลและคุณหญิงสะอาด เป็นผู้ถวายที่ดินประมาณ 20 ไร่ เพื่อสร้างวัด
ภายในวัดมีพระพุทธรูปโบราณและปูชนียวัตถุ ที่ชาวลำลูกกากราบสักการะบูชา อาทิเช่น หลวงพ่อโต อายุมากกว่า 123 ปี (พระประธานในโบสถ์) มีการกราบไหว้ขอพรจากหลวงพ่อประสิทธิโชค(พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร) นอกนั้นยังมีหลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง รอยพระพุทธบาทจำลอง ปัจจุบันมีหลวงปู่ตุ๋ย ฐานวโร (พระครูพิทักษ์ธัญสาร) อายุ 93 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 9
4. ท้าวเวสสุวรรณ (เวสสุวัณ)
เป็นยักษ์โบราณอายุมากกว่า 100 ปี (เขียว/แดง) ถือกระบองใหญ่ยันพื้น ยืนอยู่เฝ้าหน้าอุโบสถวัดนังคัลจันตรี หมู่ 5 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งความเชื่อแต่โบราณกล่าวว่า เป็นยักษ์ที่มีผิวกายสีเหลืองทอง จิตใจงาม อุทิศตนถวายพิทักษ์รักษาพุทธสถาน/พระพุทธเจ้า คนโบราณเชื่อกันว่าเป็นยักษ์ที่ภูตผีปีศาจที่มีอิทธิฤทธิ์จะเกรงกลัวท้าวเวสสุวรรณ จึงเปรียบเป็นเจ้าแห่งอสูรและภูตผีปีศาจ และอีกความหมายหนึ่ง เวสแปลว่า พ่อค้าร่ำรวย มีทรัพย์ทั่วแผ่นดิน จึงเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนเพื่อขอให้ชีวิตมั่งคั่งร่ำรวยอีกด้วย
5. ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เซียงซือกง
ตั้งอยู่ติดกับวัดนังคัลจันตรี ชาวลำลูกกาเชื้อสายจีนร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 ภายในศาลเจ้าจะประดิษฐานเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครได้ขอพรจะประสบผลสำเร็จตามที่ปรารถนา ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคมจะมีการจัดงานสักการะศาลเจ้าเป็นประจำทุกปี
6. สะพานไม้โบราณ 5 แผ่นดิน (นรการผดุง)
ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอลำลูกกา สร้างขึ้นด้วย 3 ไม้ คือ ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ตะเคียน เมื่อปี พ.ศ. 2437 และได้นำชื่อ ขุนนรการผดุง นายอำเภอลำลูกกาขณะนั้นมาตั้งเป็นชื่อสะพาน จึงเป็นสะพานไม้แห่งแรกที่ใช้ในการเชื่อมผู้คนสองฝั่งคลองหกวาได้สัญจรไปมาระหว่างกัน มีการปรับปรุงซ่อมแซมและใช้เดินไปมาได้ ปัจจุบันสะพานไม้จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของชาวลำลูกกา
- เทศบาลตำบลลำลูกกา ร่วมกับวัดนังคัลจันตรี เป็นผู้ดูแล และส่งเสริมสนับสนุนในการดำเนินการตลาดริมน้ำวัดนังฯ
- จำนวนร้านค้า 60 ร้าน
- จุดเด่นของตลาดเป็นการบูรณาการตลาดชุมชน ตลาดโบราณ และนำผลิตภัณฑ์ และของดีชุมชนในเขตเทศบาลมาจำหน่ายเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นศูนย์แสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน
- ความต้องการในการพัฒนาตลาดปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการตลาด และพัฒนาตลาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ
- สินค้าเด่นของตลาด 20 ชนิด
1. ทอดมัน
2. ผัดไท
3. ก๋วยจั๊บ
4. ส้มตำ
5. กล้วยฉาบ
6. ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ
7. ขนมจีนน้ำยา
8. ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋น
9. ข้าวมันไก่
10. ข้าวต้มมัด
11. หมูสเต็ก
12. หมี่กรอบ
13. ขนมเบี้องยวญ
14. บัวลอย
15. สาคู
16. เฉาก๊วยนมสด
17. ผลไม้แช่อิ่ม
18. ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ขนมปากหม้อ
19. ชาสมุนไพร
20. ขนมเปียกปูนนมสด
- สินค้าเกษตร 5 แผง ผลิตผลเกษตร / ผลิตภัณฑ์แปรรูป /ต้นไม้ประดับ/เกษตรอินทรีย์
ไฟล์แนบ